ฟัก แฟง แตงโม ไชโยโห่ฮิ้ว
ไม่ว่าฟักเขียว แฟง หรือว่าแตงโม ทุกคนรู้จัก แต่ถ้าฟักข้าว จะมีสัก 1 ใน 10 หรือเปล่าที่มีคนรู้จัก เป็นเพราะฟักข้าวเป็นพืชบ้านนอกจริงๆ ทีมักจะขึ้นอยู่ในป่าหรือตามหัวไร่ปลายนา และเมื่อเมืองขยายออกไปฟักข้าวก็ถูกถากถางออกไปด้วย
นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นด้านการทำลายแหล่งอาหารธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งให้หายไปอย่างเงียบๆ
ฟักข้าวเป็นไม้เลื้อย คล้ายตำลึงทั้งตรงที่มีหนวดเอาไว้เกาะกับต้นไม้ และตรงลักษณะใบ แต่ใบฟักข้าวใหญ่กว่าตำลึงมาก ผิวใบมัน สีเขียวสดใส ยอดอวบใหญ่ถ้าต้นไหนมีอายุมากก็จะมีลูกกลมๆ ผิวมีหนามเล็กๆ นิ่มๆ สีเขียวอมเหลืองให้เห็น แต่ถ้าสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสวยสะดุดตาทีเดียว
เมื่อย่างเข้าหน้าฝนต้นฟักข้าวจะแตกยอดอ่อน มักจะเอายอดอ่อนมาต้มจิ้มนำ้พริก รสชาติหวานอร่อย บางคนถึงกับบอกว่าอร่อยกว่ายอดตำลึงเสียอีก สำหรับลูกอ่อน เนื้อแน่นๆ ฉำ่น้ำ นอกจากต้มจิ้มน้ำพริก ยังเอาไปแกงส้ม แกงเลียงได้อีกด้วย แต่ถ้าตนในเมืองอยากจะลองกินยอดฟักข้าวดูบ้าง ก็คงต้องรอซื้อช่วงหน้าฝนหาซื้อตามตลาดตอนเช้าๆ กับแม่ค้าชาวบ้านที่เก็บผักเก็บหญ้าอย่างละเล็กละน้อยมาขาย คงพอจะได้ยอดฟักข้าวมาลอง ไม่ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่รู้จักฟักข้าว ชาวบาหลีและชาวฟิลิปปินส์ก็นิยมเอาฟักข้าวมากินเหมือนกัน
ในยอดฟักข้าวเองมีคุณค่าทางอาหารอยู่ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นวิตามินหลายๆ ชนิด แคลเซียมที่มีมาก เบต้าแคโรทีนแล้ว สิ่งที่จะได้จากผักอย่างแน่นอนก็คือ กากใยอาหารที่ช่วยให้กากอาหารในร่างกายไม่หมักหมม ขับถ่ายสะดวก ป้องกันโรคริดสีดวงทวารได้
ลูกสุกๆ แดงๆ ของฟักข้าวไม่ได้เป็นแค่อาหารของคน แต่ยังเป็นที่ดึงดูดในบรรดานกทั้งหลาย โดยเฉพาะนกกระปูด และซุ้มฟักข้าวยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเสียด้วย
ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวป่าหรือต่างจังหวัดขึ้นมา ถ้าพบเห็นต้นฟักข้าวลองตัดเถาแก่ๆที่มีรากอยู่ด้วย ตัดยาวสักหนึ่งไม้บรรทัด มาปักชำไว้ข้างรั้วบ้านดูบ้าง
บางทีตื่นมาตอนเช้าๆ อาจจะได้เห็นนกมาส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ริมรั้ว พร้อมกับยอดฟักข้าวอ่อนๆ เอาไว้ให้กินเป็นผักอร่อยยามที่อยากได้อาหารธรรมชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น